วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย”


เขียนโดย สุพรรษา  ถวายเทียน




ตัวอย่าง : บรรยากาศมหาวิทยาลัยนานาชาติอิสลามมาเลเซีย



     ในปัจจุบันจะสังเกตเห็นได้ว่า มีนักศึกษามุสลิมเป็นจำนวนมากที่นิยมหันไปศึกษาด้านศาสนาอิสลามในระดับอุดมศึกษา  การพัฒนาระบบการศึกษาในหลักสูตรอิสลามได้แพร่กระจายไปทั่วโลก  ซึ่งประเทศมาเลเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับการสอนศาสนาอิสลามโดยเฉพาะ   แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์  ระบบการเรียนการสอนในประเทศมาเลเซียก็ได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยที่ได้เปลี่ยนไป  ซึ่ง “มหาวิทยาลัยนานาชาติมาเลเซีย” (International Islamic University Malaysia) ก็เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่ได้มีการใช้หลักสูตรการสอนศาสนาอิสลามที่มีความสอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ที่สามารถก้าวทันโลกได้ และในขณะเดียวกันก็ยังสามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งหลักคำสอนศาสนาอิสลามที่ถูกต้องไว้ได้

มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย เป็นมหาวิทยาลัยที่ ตั้งอยู่ ณ เขตฆอมบะ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1983 ด้วยมติการประชุมใหญ่ของ องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference) หรือ OIC ที่มีวัตถุประสงค์จะทำให้ให้เป็นสถาบันทางวิชาการในการพัฒนาประชาชาติมุสลิมยุคใหม่ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาวิชาทั้งศาสนาและสามัญ ศาสนาเปรียบเชิงสร้างสรรค์ หรือทั้งด้านศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดยตั้งอยู่บนหลักการศาสนาอิสลาม โดยใช้ภาษาอาหรับและอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอน

การที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีวิสัยทัศน์ด้านการสอนที่กว้างไกลเช่นนี้ก็เพราะเชื่อว่าในปัจจุบันโลกตะวันตกมีพื้นฐานทางความรู้ หรือญานวิทยา ที่แตกต่างไปจากอิสลามอย่างสิ้นเชิง  ซึ่งถ้าหากจะศึกษาแค่องค์ความรู้ของโลกตะวันตกมันก็อาจจะทำให้ความศรัทธาของมุสลิมเกิดความสั่นคลอนได้ แต่ถ้าหากมุสลิมจะศึกษาเพียงความรู้ของศาสนาอิสลาม โดยไม่รู้ถึงความเป็นไปของวิชาความรู้ต่างๆ ในเรื่องทางโลกที่ตะวันตกนำมาให้ อาจทำให้การใช้ชีวิตของมุสลิมในโลกสมัยใหม่เป็นไปได้ยากลำบาก ดังนั้น การสังเคราะห์องค์ความรู้ตะวันตกเข้ากับหลักการและเป้าหมายการศึกษาอิสลามจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้

ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี และนักวิชาการอีกหลาย ๆ ท่าน ให้เหตุผลว่า มีความจำเป็นสำหรับโลกมุสลิมในปัจจุบันที่จะสร้างแนวคิดอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ระหว่างองค์ความรู้อิสลามกับองค์ความรู้ตะวันตก โดยให้เหตุผลว่านี่คือความตกต่ำและความล้าหลังของโลกมุสลิมที่ตามไม่ทันโลกตะวันตก ดังนั้นแนวคิดอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ จึงเป็นภาระหนึ่งในความพยายามของนักวิชาการมุสลิม ที่พยายามจะผสมผสานองค์ความรู้ของตะวันตกให้เข้ากันกับหลักการอิสลาม แต่เมื่อตรวจสอบดูแนวโน้มของนักวิชาการในขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้แล้ว ก็จะพบว่า ความพยายามที่จะทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นอิสลามนั้นจะเน้นหนักไปทางด้านสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ จิตวิทยา รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความพยายามดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เยาวชนมุสลิมรุ่นใหม่ได้ตื่นตัวกับขบวนการการสร้างองค์ความรู้ให้เป็นอิสลามมากขึ้น และระแวดระวังสิ่งแปลกปลอมทางความคิด ค่านิยมของชาวตะวันตกที่มาพร้อมกับสาขาวิชาต่างๆ ที่สอนกันอยู่ในสาขาวิชาสังคมศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อหลักปฏิบัติและหลักความเชื่อได้

ดังนั้น อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ จึงเป็นความพยายามจะขัดเกลาความรู้สมัยใหม่หรือความรู้แบบโลกวิถีให้อยู่ภายใต้กรอบและหลักการของอิสลาม แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่เข้าใจผิดคิดว่าอิสลามปฏิเสธมาตรฐานการวัดความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องของความรู้ที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้น เช่น โดยการทดลอง การสังเกต โดยการพิสูจน์ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ที่มีอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง และเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่สำคัญในอิสลามเช่นกัน เพราะความเป็นจริงอิสลามไม่ได้ปฏิเสธองค์ความรู้ที่มาจากประสาทสัมผัสของมนุษย์เอง แต่อิสลามพยายามจะชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีข้อจำกัด แม้แต่ประสาทสัมผัสบางอย่างของมนุษย์เองก็ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ดีกว่าประสาทสัมผัสของสัตว์บางชนิด และประเด็นสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการปฏิเสธพระผู้สร้างหรือพระเจ้าโดยมนุษย์ ความแตกต่างตรงนี้เองที่สร้างความโดดเด่นขององค์ความรู้แบบอิสลาม ในขณะที่ชาวตะวันตกเองหรือนักคิดแบบวิถีโลกก็จะพูดว่านี่ถือเป็นชัยชนะของมนุษย์ที่มีเหนือพระเจ้า เหนือธรรมชาติ อิทธิพลของพระเจ้า ถูกถือว่าเป็นความเชื่อของบุคคลไป มนุษย์เป็นอิสระแล้ว

การที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย สามารถปรับปรนการจัดการศึกษาให้เข้ากับแนวคิดโลกาภิวัฒน์โดยไม่ทอดทิ้งวิถีวัฒนธรรมอิสลาม และหลักการศาสนาอิสลามในอดีตได้อย่างลงตัวกอร์ปกับได้รับการสนับสนุนจากองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference - OIC) ทำให้เป็นที่รวบรวมของปัญญาชนมุสลิมทั่วโลก อันทำให้มีการแลกเปลี่ยนวิถีวัฒนธรรมมุสลิมต่างเชื้อชาติกันภายใต้แนวคิดประชาติเดียวกัน หรืออุมมะฮ์เดียวกันได้อย่างลงตัว และทำให้กลายเป็นสถาบันการจัดการศึกษาหนึ่งที่มีนักศึกษามุสลิมต่างประเทศมากที่สุดถึง 99 ประเทศ เข้ามาศึกษาความรู้ทั้งวิชาการศาสนาและสามัญ อันเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยสามารถปรับปรนการจัดการศึกษาให้เข้ากับแนวคิดโลกาภิวัฒน์ โดยไม่ทอดทิ้งวิถีวัฒนธรรมอิสลามและหลักการศาสนาอิสลามในอดีต นั่นเอง


           Website :

http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=938

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=338874


2 ความคิดเห็น:

  1. อยากส่งลูกไปเรียนจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ

    ตอบลบ
  2. มีใครช่วยแนะนำได้บ้างครับ

    ตอบลบ