วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“บาจู กุรง” เครื่องแบบที่สอดคล้องกับการแต่งกายของมุสลิม


เขียนโดย : สุพรรษา  ถวายเทียน


ตัวอย่าง : บาจู กูรง


   เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การแต่งกายของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีความแตกต่างออกไปจากการแต่งกายของศาสนาอื่นๆ โดยสิ้นเชิง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิมที่เป็นผู้หญิง มักจะมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเมื่อเห็นแล้วก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าคนผู้นี้นับถือศาสนาอิสลาม  อย่างไรก็ตาม การแต่งกายที่สอดคล้องกับศาสนาอิสลามตามบทบัญญัตินั้นก็บอกได้อย่างชัดเจนว่า การแต่งกายต้องเป็นเช่นไร กล่าวคือ  ผู้หญิงจะต้องมีการแต่งกายที่ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด ไม่รัดรูป ไม่บางจนเห็นรูปร่าง และสามารถเปิดเผลได้เพียงใบหน้าและฝ่ามือเท่านั้น  ส่วนผู้ชายก็ให้ปกปิดตั้งแต่สะดือ จนถึงหัวเข่า ส่วนอื่นๆ สามารถที่จะเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตาม การแต่งกายของชาวมุสลิมในพื้นที่ต่างๆ ก็มีรูปแบบเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ ก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งการแต่งกายที่ถูกต้องตามแบบอิสลามไว้ได้

     ลักษณะการแต่งกายของมุสลิม ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมตามแต่ภูมิภาคนั้นๆ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง (ประกอบด้วยวัฒนธรรมอาหรับ เปอร์เซีย เติร์ก) ภูมิภาคแอฟริกา ภูมิภาคเอเชียกลาง ภูมิภาคเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะ) โดยจะมีรายละเอียดลักษณะการแต่งกายแตกต่างกันไป สตรีมุสลิมแถบตะวันออกกลาง นิยมสวมเสื้อคลุมยาวเรียกว่า อบายะห์ (Abaya) ในเอเชียใต้นิยมห่มสาหรี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สวมเสื้อผ้ามัสลิน หรือลูกไม้ตัวยาวแบบมลายู นุ่งซิ่นปาเต๊ะ ผ้าบาติก หรือการจับเอาหลายวัฒนธรรมมาผสมผสาน  ในส่วนของการคลุมศีรษะนั้น มีลักษณะการคลุมหลายลักษณะ เช่น คิมารฺ (Khimār) หรือตอรฺฮะฮฺ (Tarha) คือการใช้ผ้าคลุมศีรษะโดยเปิดเผยใบหน้า หรือ นิกอบ (Niqab) การใช้ผ้าปิดบังใบหน้า แต่เปิดเผยเฉพาะดวงตา และ บุรฺเกาะ (Burqa) คือปิดคลุมใบหน้าทั้งหมด ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ผ้าคลุมฮิญาบได้คิดค้นด้วยภูมิปัญญาการเย็บปักผ้าคลุมอย่างประณีต รักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ด้วยการออกแบบลายปักผ้าและสีสัน  เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

    สำหรับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมลายูจึงอยู่ในรูปแบบที่บ่งบอกถึงความเป็นมุสลิมได้อย่างชัดเจน ซึ่ง หนึ่งในเครื่องแต่งกายของชาวมลยูก็คือ “บาจู กุรง” ซึ่งเป็นชุดประจำชาติมาเลเซีย  สำหรับลักษณะเด่นของชุดบาจู  กูหรงนั้น ไม่ว่าของผู้ชายหรือผู้หญิง  มักจะตัดเย็บด้วยผ้าผืนเดียวกัน  เพราะฉะนั้นทั้งสีและลวดลายบนผืนผ้า จึงเป็นแบบเดียวกันทั้งชุด  แต่ชุดของผู้ชายกลับมีเครื่องเครามากกว่าของผู้หญิงชุดผู้ชาย ทั้งเสื้อและกางเกงลวดลายสีสันเดียวกันทั้งชุด   ไม่นิยมลวดลายสัตว์หรือผิดหลักศาสนาอิสลาม เสื้อผู้ชายเป็นแขนยาว  ทั้งแบบคอลมและคอจีน  ซึ่งมีรังดุมราว  2-5  เม็ด  ผ่าจากคอเสื้อลงมาถึงกลางอก  ส่วนท่อนล่างจะเลือกใส่กางเกงหรือผ้าโสร่งก็ได้  ถ้าใส่กางเกงต้องมีผ้าพัน  หรือมองดูคล้ายโสร่งสั้น  จากสะดือถึงเข่า  ภาษามลายูเรียกผ้าพันนี้ว่า  ซัมปิน  (Sampin)  ซึ่งสีไมฉูดฉาด  แต่ก็สวยงามบางทีเป็นผ้าไหม  ดิ้นทอง  ซัมปินทำให้ชุดผู้ชายดูสุภาพเรียบร้อย  ทั้งยังสามารถกันเปื้อนได้อีกด้วย  และที่ศีรษะผู้ชายจะสวมหมวกแขกกำหยี่สีดำ  ภาษามลายูเรียกว่า  ซองโก๊ะ  (Songkok)  แต่ถ้าจะให้เต็มยศบางคนก็จะสวมผ้าพันเป็นรูปมงกุฎสวมทับไปบนหมวกอีกชั้นหนึ่ง

   สำหรับชุดผู้หญิง  จะมีเครื่องแต่งกายน้อยชิ้นกว่าผู้ชาย  ทั้งเสื้อและกระโปรงตัดด้วยผ้าบางเบา  เนื่องจากภูมิอากาศที่ร้อนอบอ้าว  ผ้าเป็นลวดลายและสีเดียวกันทั้งชุด    หรือสีที่เข้ากันดีระหว่างเสื้อกับผ้านุ่ง    นิยมลวดลายดอกไม้สีสันสดใส เสื้อผู้หญิงเป็นแบบแขนยาว  ชายเสื้อยาวลงมาถึงเข่า  บางคนนิยมตัดเย็บเสื้อเข้ารูป  แต่บางคนปล่อยให้หลวมๆ  ไม่เน้นรูปร่าง  ส่วนท่อนล่างเป็นกระโปรงยาวคลุมตาตุ่ม  ไม่ผ่าข้าง เมื่ออกนอกบ้าน  ผู้หญิงมาเลเซียนิยมคลุมศีรษะด้วยผ้าบางเบา  มีสีสันลวดลายดูกลมกลืนหรือเป็นลายเดียวกับเสื้อและกระโปรง  ผ้านี้บางทีก็นำมาคลุมไหล่เป็นเครื่องประดับได้ด้วย  สตรีมุสลิมที่เคร่งครัดก็มักคลุมฮิญาบ   หรือที่ชาวมลายูเรียกว่า  ตุดง (Tudung)  ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น

    ดังนั้น เราจะพบว่า การแต่งกายของชาวมลายูแม้จะเป็นไปตามวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซีย ที่ต้องการดำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นมลายูผ่านการแต่งกาย  แต่กระนั้น ก็ตามชาวมลายูก็ยังคงสามารถที่จะปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามผ่านเครื่องแต่งกายได้


Website :



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น