เขียนโดย สุพรรษา ถวายเทียน
บรรยากาศ เมืองมะละกา |
มะละกา เป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีอาณาเขตทิศเหนือจดรัฐเนกรีเซมมิลัน
ทิศตะวันออกจดรัฐยะโฮร์ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดช่องแคบมะละกา ซึ่งถ้าหากจะกล่าวถึงมะละกา
หลายๆ คนอาจจะนึกไปจุดศูนย์รวมแห่งการค้าที่ยิ่งใหญ่ในอดีตบริเวณคาบสมุทรมลายู
แต่หากได้มองอีกมุมหนึ่ง
นอกจากมะละกาจะเป็นจุดศูนย์รวมทางการค้าที่เคยรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในอดีตแล้ว
มะละกาแห่งนี้ยังเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยอารยธรรมของศาสนาอิสลาม
เป็นจุดศูนย์รวมของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปสู่พื้นที่ต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ในระยะแรกที่ศาสนาอิสลามเข้ามาในมะละกา
ยังคงปรากฏธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮินดู-พุทธ
ความเชื่อดั้งเดิมหรืออาดัต (adat) และการนับถือเจ้าถือผี
ศาสนาอิสลามที่เข้ามาในระยะแรกนั้นเป็นนิกายซูฟีที่มีความเชื่อในเรื่องญาณและสิ่งลี้ลับ
การเปลี่ยนมารับอิสลามของผู้คนในบริเวณหมู่เกาะเป็นผลมาจากการปฏิวัติภายใน กล่าวคือ
ความไม่พอใจต่อระบบสังคมแบบฮินดูที่มีการแบ่งแยกชนชั้นเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้คนหันไปรับอิสลามที่เน้นย้ำความเท่าเทียมกันได้ง่ายขึ้น
ศาสนาอิสลามเอื้ออำนวยต่อระบบเศรษฐกิจแบบพ่อค้าได้ดีกว่าศาสนาฮินดู-พุทธ โดยไม่จำเป็นต้องมีพระหรือวัดในการประกอบพิธีทางศาสนาทุกคนสามารถปฏิบัติกิจทางศาสนาได้อย่างเท่าเทียมกัน
ศาสนาอิสลามเข้ามายังอาณาจักรมะละกาพร้อมกับความรุ่งเรืองทางการค้า
ถึงแม้ว่าการขยายอิทธิพลทางดินแดนของมะละกาได้ยุติลง
แต่ในขณะเดียวกันการแพร่ขยายของวัฒนธรรมะละกา-มลายู
ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามได้แพร่ขยายเข้าสู่ดินแดนอื่นๆ
ในคาบสมุทรมลายู ซึ่งมูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากศาสนาดั้งเดิมนั่นก็คือว่า
ศาสนาอิสลามไร้ซึ่งคณะสงฆ์ ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของสังคม
หากรับนับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ย่อมที่จะมีความเท่าเทียมกัน
ใช่ว่าจะมีการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นปกครอง ขุนนาง นักบวช และประชาชน
ผู้คนในสังคมถูกรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันภายใต้หลักคำสอนของอิสลาม
ด้วยเหตุที่ว่าการเผยแพร่ศาสนาเป็นหน้าที่ของผู้คนทุกคนในสังคม
ศาสนาอิสลามก็ได้เริ่มซึมซับเข้าสู่ผู้คนในสังคมนั้นๆ
ซึ่งต่างออกไปจากศาสนาดั้งเดิมที่หน้าที่ของการเผยแพร่ศาสนาจำกัดอยู่ที่นักบวชเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
มะละกาต้องเผชิญอยู่กับภาวะสงครามโดยศัตรูจากแดนอื่น นั่นก็คือโปรตุเกส
ที่ยกกองทัพเรือเข้ามาปิดล้อมร่วมเดือน ก่อนที่โปรตุเกสจะตีมะละกาแตก
และสร้างอำนาจการปกครองเหนือมะละกา ถือเป็นจุดจบแห่งอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของมะละกา
อย่างไรก็ตามแม้นไม่มีอาณาจักรมะละกาแล้ว แต่การเผยแพร่ศาสนาอิสลามยังคงอยู่
แม้จะต้องเผชิญอยู่กับศาสนาใหม่ของอาณานิคมที่มีอิทธิพลอยู่เหนือบริเวณเหล่านี้เป็นระยะเวลาหลายร้อยปี
แต่ศาสนาของอาณานิคมเหล่านั้นไม่สามารถที่จะพิชิตใจผู้คนในคาบสมุทรมลายูได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า
การนับถือศาสนาอิสลามของชาวมลายูมิได้มีการนับถือเพียงเพื่อผลประโยชน์ในด้านการค้า
หรือนับถือเพียงเพราะผู้ปกครองหันไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่การนับถือศาสนาอิสลามของชาวมลายูเกิดขึ้นมาด้วยแรงศรัทธาที่อยู่ภายในหัวใจจริงๆ
และแม้นจะมีอะไรมาขัดขวาง
ความศรัทธาเหล่านั้นก็มิสามารถเลือนหายไปจากหัวใจของชาวมลายูได้
Website :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น