วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อาหารฮาลาลในมาเลเซียกับการเพิ่มจำนวนประชากรมุสลิมในโลก




เขียนโดย : สุพรรษา ถวายเทียน







    ในปัจจุบัน  โลกใบนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ประเทศแทบทุกประเทศในโลกได้เพียรพยายามที่จะพัฒนาประเทศชาติของตนเองให้ก้าวทันกับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไปในทุกๆด้าน  ไม่ว่าจะในด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  หรือวัฒนธรรม  ทั้งหมดล้วนถูกพัฒนาไปตามศักยภาพของประเทศนั้นๆ  และแน่นอน  หากจะมองการพัฒนาของประเทศหนึ่งๆนั้นว่ามีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน  การขยายตัวในด้านเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆย่อมบ่งบอกถึงความล้าหลังหรือความทันสมัยของประเทศได้เป็นอย่างดี  ซึ่งสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วนั้น  มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังดำเนินการพัฒนาอยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ประเทศมาเลเซียที่ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง  มีการเจริญเติบโตขึ้นทุกปี  ซึ่งจะเห็นได้จากการขยายตัวโดยรวมของสินค้าภายในประเทศ  และนอกจากนั้นแล้ว  มาเลเซียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่องค์การสหประชาชาติได้จัดให้เป็นประเทศนิคส์ (NICS)  หรือประเทศที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมใหม่  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  ประเทศมาเลเซียนั้นมีศักยภาพสูงมากในเชิงเศรษฐกิจ  อีกทั้งยังเป็นประเทศที่อยู่ในแนวหน้าของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้อีกด้วย

ประเทศมาเลเซียนั้น  เป็นประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย  ซึ่งอุตสาหกรรมฮาลาลก็เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่กำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว  โดยที่อุตสาหกรรมฮาลาลของมาเลเซียนั้นไม่ใช่มีเพียงด้านอาหารอิสลามเท่านั้น  แต่ยังรวมไปถึงสินค้าประเภทอื่นๆอีกมากมาย  เช่น  ยา  เครื่องสำอาง  ของใช้ประเภทสบู่  ยาสีฟัน  เครื่องหนัง  และนอกจากนั้นแล้ว  ยังเกี่ยวข้องกับการบริการ  เช่น  การจัดเลี้ยง  โรงแรม  การฝึกอบรม  ธนาคาร  สื่อมวลชน  โลจิสติกส์  และการท่องเที่ยวอีกด้วย  ทั้งนี้  สาเหตุหนึ่งที่อุตสาหกรรมฮาลาลในมาเลเซียได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางก็เนื่องมาจากว่าศาสนาอิสลามนั้นเป็นศาสนาที่มีการขยายตัวเร็วที่สุดในโลก  จากการวิจัยของ  Pew  Research  Centre  ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ศึกษาศาสนาและผลกระทบจากศาสนาต่อสังคมได้รายงานว่าในปัจจุบันมีประชากรมุสลิมทั่วโลกประมาณ  1600  ล้านคน  คิดเป็น  23 %  ของจำนวนประชากรทั่วโลกและในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอาจจะเพิ่มจำนวนเป็น  35  %  ของจำนวนประชากรทั่วโลกกันเลยทีเดียว  ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของศาสนาอิสลามในศตวรรษที่  21  ดังนั้นผู้ที่จะปฏิบัติตามบัญญัติและข้อห้ามในศาสนาอิสลามจึงเพิ่มมากขึ้นด้วย  และในฐานะที่มาเลเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากถึง  60  %  จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ  ทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาลมากที่สุดในระดับต้นๆของประเทศทั่วโลก โดยที่มาเลเซียได้วางเป้าหมายให้อุตสาหกรรมฮาลาลของตนเป็นศูนย์กลางของโลก  โดยมีการจัดตั้ง  Halal  Industry  Development  Corporatoin  หรือ  HDC  ตั้งแต่ปี  2006  ให้เป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล  ซึ่งกลุ่มสินค้าฮาลาลที่ถือครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดของตลาดสินค้าฮาลาลโลกก็คือ  อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลนั่นเอง  ดังนั้น  อาหารฮาลาลจึงกลายเป็นความต้องการของประชากรทั้งในมาเลเซียเอง  และได้กลายเป็นแนวโน้มใหม่ของตลาดอาหารโลก

            ในโลกปัจจุบันมักเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยระบบตลาด   มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐาน   ซึ่งเช่นเดียวกัน  การผลิตอาหารนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นการผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาด  การผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนนั้นมีปริมาณน้อยมาก  ดังนั้น  ตลาดอาหารโลกจึงมีบทบาทอย่างสูงต่อโภชนาการและการสนองอาหารต่อประชากรในโลก  ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันจะสังเกตเห็นได้ว่าอาหารที่มีตราฮาลาลรับรองนั้นจะเป็นกลุ่มอาหารที่เป็นความต้องการของตลาดโลกสูงมาก  อีกทั้งอัตราการขยายตัวของอาหารฮาลาลก็ยิ่งพุงสูงขึ้นทุกวัน  ทั้งนี้ก็เพราะว่าความต้องการในอาหารฮาลาลนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ประชากรที่เป็นมุสลิมเท่านั้น  แต่ผู้ที่มิได้นับถือศาสนาอิสลามก็เริ่มหันมาเลือกบริโภคอาหารที่มีตราฮาลาลรับรองกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน  ที่เป็นเช่นนี้  ก็เนื่องมาจากว่า  ในปัจจุบันผู้คนทั่วไปจะให้ความสำคัญกับอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีตราฮาลาลเป็นอย่างมาก  เพราะเชื่อว่าเจตนารมณ์ของอาหารฮาลาลที่ให้ชาวมุสลิมได้บริโภคนั้นเป็นอาหารที่บริสุทธิ์  สะอาด  ดีต่อสุขภาพ  และไม่มีพิษอันตรา  อีกทั้งกระบวนการผลิตก็ย่อมต้องผ่านตามขั้นตอนตามหลักการของอิสลาม  และอาหารที่จะสามารถรับรองตราฮาลาลได้นั้นย่อมต้องเป็นอาหารที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างแน่นอน  ส่วนอาหารประเภทซากสัตว์  เลือด  หรือเนื้อหมูนั้น  จากการพิสูจน์ทางการแพทย์ก็พบว่าเป็นสิ่งที่อันตรายต่อร่างกายมนุษย์ทั้งสิ้น  ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็เป็นที่ต้องห้ามของศาสนาอิสลามอยู่แล้ว  ดังนั้น  จากความพิถีพิถันในเรื่องของการบริโภคตามหลักการศาสนาอิสลามนี้นี่เองที่ทำให้คนที่มิใช่มุสลิมเริ่มหันมานิยมบริโภคอาหารฮาลาลกันมากขึ้น

ซึ่งนอกจากนั้นแล้ว  จากอัตราการขยายตัวของประชากรมุสลิมที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก  ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทข้างต้นนั้น   ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราความต้องการในอาหารฮาลาลเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน  ดังในตารางด้านล่างนี้





จากตารางข้างต้น  เป็นเพียงตัวอย่างของความต้องการในอาหารฮาลาลของประชากรมุสลิมในประเทศบางประเทศเท่านั้น  ซึ่งหากเฉลี่ยปริมาณการขยายตัวของอาหารฮาลาลในช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกแล้วนั้นก็จะมีมูลค่าประมาณ  5  แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี  ซึ่งมันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับการขยายตัวของจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นทุกปี  และด้วยจำนวนดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อความต้องการในอาหารฮาลาลเพิ่มมากขึ้น  ตลาดที่มีการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลย่อมมากขึ้นด้วยเช่นกัน  ดังนั้น  ไม่เพียงแค่ตลาดอาหารในมาเลเซียเท่านั้นที่มีการเร่งการผลิตอาหารฮาลาล  แต่ยังมีตลาดรายใหญ่อื่นๆอีกทั่วโลกที่ทำการขยายอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรในโลกปัจจุบัน

อาหารฮาลาลหรือสินค้าต่างๆที่มีเครื่องหมายฮาลาลรับรองนั้น  คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ามันเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์หนึ่งที่จะบ่งบอกให้รู้ว่าอาหารหรือสิ่งของชิ้นนั้นเป็นที่อนุญาตสำหรับมุสลิม  แต่กลับไม่เข้าใจในเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีคำว่าฮาลาล  แต่เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยนไป  หลักวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้ามากขึ้น  ดังนั้นจึงมีการเริ่มหาเหตุผลว่าทำไมอาหารบางชนิดถึงฮาลาล  และทำไมอาหารบางชนิดที่คนทั่วไปสามารถรับประทานได้กลับเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิม  โดยการนำอาหารเหล่านั้นมาทำการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งปรากฏว่าอาหารทุกอย่างที่มีตราฮาลาลรับรองนั้นสะอาด  มีประโยขน์  และไม่เป็นโทษต่อร่างกาย  ซึ่งถือเป็นแนวคิดของอาหารฮาลาลที่ต้องการส่งเสริมในด้านสุขอนามัย  การสุขาภิบาลและความปลอดภัย  ไม่ใช่เป็นเพียงแค่บทบัญญัติทางศาสนาเท่านั้น  ในขณะที่อาหารที่มุสลิมถูกห้ามทานนั้นกลับมีโทษต่อร่างกายมนุษย์ไม่มากก็น้อย  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  จึงไม่แปลกเลยที่ปัจจุบันอาหารฮาลาลได้กลายเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก  ทั้งคนที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

ซึ่งแน่นอนว่า  เมื่อแนวโน้มความต้องการในอาหารฮาลาลยิ่งพุ่งสูงขึ้น  ตลาดที่ผลิตอาหารฮาลาลรายใหญ่อย่างมาเลเซียก็ย่อมต้องเร่งการผลิตเช่นกัน  และการที่มาเลเซียได้กลายเป็นศูนย์กลางฮาลาลโลกนั้น  ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมีศักยภาพในด้านการผลิตทั้งอาหาร  สินค้า  หรือการบริการอื่นๆที่ฮาลาลได้เป็นอย่างดี  แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อความต้องการในอาหารฮาลาลยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าไร  การแข่งขันในการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลของประเทศต่างๆก็ย่อมสูงขึ้นเช่นกัน  ซึ่งสำหรับมาเลเซียแล้วนั้น  อุตสาหกรรมฮาลาลคงจะมีแต่การขยายตัวกว้างขึ้นอยู่เสมอ  เพราะนอกจากมาเลเซียจะเป็นประเทศมุสลิมแล้ว  ศักยภาพในการผลิตและคุณภาพของผลผลิตก็เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกเช่นกัน



บรรณานุกรม:

โครงการตะวันออกกลางศึกษา. (2549). อาหารฮาลาล: แนวโน้มใหม่ตลาดอาหารโลก. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(กรุงเทพ).
ชัยโชค จุลศิริวงศ์. (2538).  นโยบายต่างประเทศของมาเลเซีย. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: นโยบายต่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. กรุงเทพฯ.
นิติ นวรัตน์. (2555,  24  ตุลาคม). “มีมุสลิมกี่คนบนโลกใบนี้.” เปิดฟ้าส่องโลก. ไทยรัฐ. 2.
วิทย์ บัณฑิตกุล (เรียบเรียง). (2555) มาเลเซีย. หนังสือชุดประชาคมอาเซียน. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพ: วีพริ้น จำกัด).
อุมาร  มาตะมัน. (2551). อาหารฮาลาลคืออะไร.  วิทยุสราญรมย์. 38-39 (มกราคม-มิถุนายน).
John Gullick. (1981). Malaysia: Economic Expansion and National Unity. London: By Ernest Benn Limited.
SIRIM Berhad. (2004). For Halal Food. Standardisation, 11 (July - August). 6.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น